ประวัติความเป็นมาขององค์การบริหารส่วนตำบลหนองบอน

ตำบลหนองบอน แยกตัวออกจากตำบลละเวี้ย และตำบลปังกู อำเภอประโคนชัย จังหวัดบุรีรัมย์ เดิมมีชื่อเรียกภาษาเขมรว่า “หนองตราว” และเวลาต่อมาได้เปลี่ยนชื่อเป็น “หนองบอน” ที่มาเพราะมี ต้นบอนขึ้นอยู่ตามหนองน้ำของหมู่บ้านเป็นจำนวนมาก

จากข้อมูลการบอกเล่าของผู้อาวุโสในตำบล ราษฎรส่วนใหญ่มีเชื้อสายเขมร กูยและลาวปะปนกันอยู่ลดหลั่นตามลำดับ จึงเป็นศูนย์รวมของหลายวัฒนธรรมที่อยู่ร่วมกัน ราษฎรตำบลหนองบอนประกอบอาชีพเกษตรกรรมเป็นหลัก

ตำบลหนองบอนเป็นพื้นที่ที่มีความอุดมสมบรูณ์มาก มีแหล่งน้ำธรรมชาติหลายสายที่หล่อเลี้ยงประชาชนได้อุปโภค บริโภค ได้อย่างไม่อดอยาก มีพื้นที่ในการเพาะปลูกทำการเกษตร เลี้ยงสัตว์เป็นอย่างดี และปัจจุบันมีกลุ่มหัตถกรรมจากไม้ ซึ่งเป็นสินค้า OTOP และมีศูนย์การเรียนรู้เศรษฐกิจพอเพียง ที่มีชื่อเสียงสำคัญของตำบลหนองบอนและอำเภอประโคนชัย

ตำบลหนองบอน มีพื้นที่แยกเป็นหมู่บ้าน จำนวน 11 หมู่บ้าน ดังนี้
หมู่ที่ 1 บ้านหนองบอน
หมู่ที่ 2 บ้านห้วยเสลา
หมู่ที่ 3 บ้านยาง
หมู่ที่ 4 บ้านพูนสุข
หมู่ที่ 5 บ้านหนองน้ำขุ่น
หมู่ที่ 6 บ้านหนองน้ำใส
หมู่ที่ 7 บ้านโนนเสน่ห์
หมู่ที่ 8 บ้านหนองโจรง
หมู่ที่ 9 บ้านหนองน้ำใส
หมู่ที่ 10 บ้านสุขสำราญ
หมู่ที่ 11 บ้านห้วยเสลา

ตำบลหนองบอนมีโบราณสถานที่ได้รับการรับรองจากกรมศิลปากร คือ โบราณสถานปราสาทวัดโคกปราสาทประชานุรักษ์ ตั้งอยู่ในที่พักสงฆ์วัดโคกปราสาทประชานุรักษ์หรือวัดโคกปราสาทใต้ ตำบลหนองบอน อำเภอประโคนชัย จังหวัดบุรีรัมย์ เป็นปราสาทในวัฒนธรรมเขมร สร้างขึ้นราวพุทธศตวรรษที่ 16 – 17 สภาพปัจจุบันมีลักษณะเป็นเนินโบราณสถานขนาดเล็ก มีต้นไม้ขึ้นคลุมค่อนข้างหนาแน่น มีขนาดกว้างประมาณ 20 เมตร ยาวประมาณ 35 เมตร และ มีคูน้ำรูปตัวยูล้อมรอบโดยเว้นเป็นทางเข้าด้านทิศตะวันออก คูน้ำมีขนาดกว้างประมาณ 15 – 20 เมตร บนเนินโบราณสถานปรากฏแนวอาคารที่ก่อด้วยหินทราย ศิลาแลง และอิฐ ในอนาคตก็จะบูรณะเป็นสถานที่ท่องเที่ยวอีกแห่ง ของอำเภอประโคนชัยชัย จังหวัดบุรีรัมย์

Submit to FacebookSubmit to Google PlusSubmit to TwitterShare with friendsPrint this page